สารรอบตัว

สารรอบตัว

                                                  สารรอบตัว

       เมื่อเราสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เช่น กระดาษ ไม้บรรทัด น้ำ ไอน้ำ ควันไฟ เป็นต้น จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่เราก็สามารถสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้โดยการใช้ประสาทสัมผัสทางการมองเห็น การดมกลิ่น การชิมรส การได้ยิน หรือการสัมผัสด้วยผิวหนัง

      สสาร (matter) คือ สิ่งที่มีตัวตน ต้องการที่อยู่ มีมวล สามารถสัมผัสจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัส ซึ่งในสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตต่างก็ประกอบด้วยองค์ประกอบขนาดเล็กที่เรียกว่า สาร

      สาร (substance) คือ เนื้อของสสารซึ่งเราทราบองค์ประกอบที่แน่นอนแล้ว สารจะมีองค์ประกอบที่เป็นอย่างเดียวกัน ทำให้มีสมบัติเฉพาะ ไม่สามารถเปลี่ยนหรือทำให้เป็นสารอื่นได้

สิ่งที่ทำให้สารชนิดหนึ่งแตกต่างจากสารอีกชนิดหนึ่งก็คือ สมบัติของสาร โดยสามารถจำแนกสมบัติของสารได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. สมบัติทางกายภาพ (physical property) เป็นสมบัติของสารที่เราสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก เช่น สถานะ สี กลิ่น รส การนำไฟฟ้า การละลายน้ำ จุดเดือด จุด หลอมเหลว เป็นต้น ซึ่งสามารถสังเกตลักษณะทางกายภาพของสารได้โดยการใช้ประสาทสัมผัสหรือใช้อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้น เช่น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องวัดการนำไฟฟ้า เครื่องวัดความชื้น เป็นต้น

2. สมบัติทางเคมี (chemical property) เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี หรือการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสาร เช่น การเกิดแก๊ส การเกิดตะกอน การผุกร่อน การติดไฟ การเกิดสนิม การเผาไหม้ การเปลี่ยนแปลงพลังงานความร้อนหรือแสง เป็นต้น