พลังบวกกับวิทยาศาสตร์

by ครูกาฟิวส์


เรียนวิทยาศาสตร์กับครูกาฟิวส์  

วิทยาศาสตร์ 

พลังบวกกับวิทยาศาสตร์


       ในขณะที่วัยรุ่นทั่วไปอาจจะเที่ยวเล่นสนุกสนานกับเพื่อนในเวลาว่างจากการเรียน แต่สาวน้อยวัย 15 ปี “กีตันชลี ราว” นักเรียนมัธยมปลายและนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากโคโลราโด สนุกกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จนทำให้เธอได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร “TIME” ให้เป็น “Kid of the Year” หรือ “เด็กแห่งปี” คนแรกของนิตยสารไทม์ สำหรับ “งานที่น่าอัศจรรย์โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการปัญหาต่างๆตั้งแต่น้ำดื่มที่ปนเปื้อนไปจนถึงการติดยาเสพติดและการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต” โดยคัดเลือกจากเด็กวัย 8-16 ปีที่มีความสามารถที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมจากทั่วสหรัฐฯกว่า 5,000 คน

เธอเริ่มคิดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไรตั้งแต่ ป.2 พออายุได้ 10 ขวบก็บอกพ่อแม่ว่าอยากจะไปวิจัยที่ห้องปฏิบัติการวิจัยคุณภาพน้ำที่เดนเวอร์ ปีที่แล้ว ราวได้รับเลือกให้อยู่ในรายการ ‘30 Under 30’ ของนิตยสาร Forbes สำหรับนวัตกรรมของเธอ ยังได้รับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ยอดนิยมของอเมริกาในปี 2560 จากการสร้างอุปกรณ์ชื่อ Tethys เพื่อตรวจจับสารตะกั่วในน้ำ

ไม่นานมานี้เธอได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Kindly เป็นเครื่องมือที่ใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อ ตรวจจับสัญญาณเบื้องต้นของการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต โดยเธอบอกว่า “เมื่อคุณพิมพ์คำหรือวลีใดๆที่อาจถูกตรวจจับได้ว่าเป็นข้อความที่แสดงการกลั่นแกล้ง มันจะให้ตัวเลือกในการ “แก้ไข” หรือ “ส่ง” ไปตามที่เขียน เป้าหมายไม่ใช่เพื่อลงโทษ แต่เปิดโอกาสให้ได้คิดทบทวนสิ่งที่คุณกำลังเขียนออกไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรในครั้งต่อไป”

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากสิ่งประดิษฐ์ของเธอก็คือกระบวนการในการสร้างสรรค์ที่เริ่มจาก “สังเกต-ระดมความคิด-วิจัย-สร้าง-สื่อสาร” ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับทุกเพศวัยและสาขาวิชา นอกจากนี้เธอยังให้ข้อคิดว่าให้โฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รู้สึกตื่นเต้น จะเป็นเรื่องเล็กๆก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่มีความหลงใหลอย่างจริงจัง ทุกอย่างสร้างความแตกต่าง อย่ารู้สึกกดดันที่จะต้องเจอกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และอย่าพยายามทำทุกอย่างพร้อมๆกัน เราไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา

“กีตันชลี ราว” เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกใช้พลังสร้างสรรค์ในเชิงบวกต่อสังคม.

อ้างอิง ที่มา อมรดา พงศ์อุทัย